ถอดข้อความบน “ชามจีนโบราณ” ที่ถูกประมูลกว่า 918 ล้านบาท แม้มีขนาดผ่านศูนย์กลางเพียง 11 ซม. แต่เป็นผลงานหายากจากยุครุ่งเรืองราชวงศ์ชิง
วงการประมูลศิลปะสะเทือนเมื่อชามโบราณสมัยจักรพรรดิ “หย่งเจิ้ง” (ค.ศ. 1722–1735) แห่งราชวงศ์ชิง ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 11.4 เซนติเมตร ถูกขายในการประมูลด้วยมูลค่ามหาศาลถึง 25.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 918 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมา
ชามใบนี้ไม่ใช่แค่งานศิลปะโบราณทั่วไป แต่เป็นหนึ่งในผลงานหายากที่สะท้อนถึงความวิจิตรของงานเครื่องเคลือบจีน เคยผ่านมือเจ้าของระดับตำนาน และสร้างความฮือฮาในแวดวงสะสมมาแล้วหลายปี
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2006 ชามใบนี้ถูกซื้อโดย ดร.อลิซ เฉิง (Alice Cheng) นักธุรกิจหญิงเชื้อสายเซี่ยงไฮ้ ในราคาสูงถึง 19.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 694 ล้านบาท จากการประมูลของ Christie’s ที่ฮ่องกง ซึ่งในขณะนั้นได้สร้างสถิติใหม่ในเอเชียสำหรับงานศิลปะ และถือเป็นหนึ่งในผลงานเครื่องเคลือบราชวงศ์ชิงที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์
ทั้งนี้ ตามข้อมูลยังระบุด้วยว่า ชามประวัติศาสตร์ใบนี้เคยอยู่ในครอบครองของบุคคลสำคัญมากมาย อาทิ กัปตัน Charles Oswald Liddell นักธุรกิจชาวอังกฤษที่ย้ายมาใช้ชีวิตในจีนตั้งแต่ปี 1877 และนักสะสมหญิงชื่อดัง Barbara Hutton ทายาทแห่งอาณาจักรค้าปลีก Woolworth ซึ่งครอบครองชามนี้นานเกือบสามทศวรรษ
จนกระทั่งปี 2006 ชามจึงตกเป็นของ ดร.อลิซ เฉิง ผู้มีบทบาทในหลายธุรกิจใหญ่ ตั้งแต่น้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ไปจนถึงโลจิสติกส์ ซึ่งทำให้ชามใบนี้ยังคงอยู่ในความสนใจของวงการศิลปะและนักสะสมทั่วโลก
รายละเอียดชามโบราณ ความวิจิตรที่สะท้อนกลิ่นอายกวี
ชามดังกล่าวผลิตขึ้นด้วยเทคนิค “ฟาแลง” (Cloisonné enamel) ที่ใช้โลหะทองแดงหรือโลหะผสมเป็นโครง แล้วเคลือบด้วยสีและนำไปเผาในอุณหภูมิสูง เทคนิคนี้เริ่มแพร่หลายในราชสำนักสมัยจักรพรรดิ “คังซี” และกลายเป็นสัญลักษณ์ของงานหัตถศิลป์ชั้นสูงซึ่งใช้เฉพาะในวังหลวง
ลวดลายบนชามได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและศิลปะแบบภาพม้วนของจีน มีทั้งภาพดอกแอปริคอต (สัญลักษณ์ของเดือน 2 ตามปฏิทินจันทรคติ) ต้นหลิว และนกนางแอ่นที่เป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความสำเร็จในการสอบจอหงวน
ด้านหลังของชามยังมีบทกวีจากยุคราชวงศ์หมิงจารึกไว้ว่า “玉剪穿花過,霓裳帶月歸” (หยกพุ่งผ่านดอกไม้, นางฟ้าแห่งจันทร์กลับคืน) เปรียบนกนางแอ่นที่ร่ายรำกลางอากาศเหมือนนักระบำสวรรค์ยามค่ำคืน แสดงถึงความงดงามอันเปี่ยมด้วยกลิ่นอายวรรณศิลป์
เหนือบทกลอนมีตราประทับด้วยหมึกแดง 3 จุด ได้แก่ “佳麗” (งดงาม), “先春” (ฤดูใบไม้ผลิมาก่อน), และ “旭映” (แสงอรุณส่องสะท้อน) ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาของภาพและบทกลอนได้อย่างลงตัว เพิ่มความงามละมุนและกลิ่นอายวรรณศิลป์ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ในขณะที่ใต้ฐานชาม มีการลงลายมือเขียนด้วยสีน้ำเงินรูปแบบตัวอักษร 宋體 (ซ่งถี่) ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ระบุว่า “乾隆年製” (ผลิตในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง)
ผู้เชี่ยวชาญด้านเซรามิกจีนชื่อดัง เรจินา คราล (Regina Krahl) กล่าวว่า ชามใบนี้เป็นตัวแทนของยุคทองแห่งศิลปะลวดลายธรรมชาติในสมัยหย่งเจิ้ง และเป็นหนึ่งในผลงานที่ผลิตขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เฉพาะที่กรุงปักกิ่ง โดยขั้นตอนเริ่มจากการผลิตโครงชามที่เมืองจิ่งเต๋อเจิน (Jingdezhen) ก่อนส่งต่อมายังพระราชวังต้องห้ามเพื่อให้ช่างฝีมือหลวงตกแต่งและเผาอีกครั้ง
ปัจจุบัน ชามในลักษณะเดียวกันส่วนใหญ่ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชื่อดังระดับโลก มีเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นที่ยังอยู่ในครอบครองของนักสะสมเอกชน
- วันหย่าแม่สามีให้ “ชาม” ย้ำขายตอนลำบาก หอบไปออกรายการดัง รู้มูลค่าช็อกจนตัวสั่น
- เดินสะดุดหินยักษ์ นึกว่า “หมูสามชั้น” ระดมหนุ่มๆ ช่วยขนกลับบ้าน คุ้มค่าแพงมหาศาล!
ใส่ความเห็น