เปิด 5 สาขาอาชีพที่มักถูก “เตือนใบแดง” ว่าเสี่ยงตกงาน แล้วความจริงของคำว่า “ตกงาน” คืออะไร?
ทุกฤดูการรับสมัครเข้ามหาวิทยาลัย มักจะมีรายชื่อสาขาวิชาที่ถูกมองว่า “เรียนไปแล้วก็ตกงาน” หรือ “เรียนจบไม่มีใครรับเข้าทำงาน” ปรากฏขึ้นอีกครั้งในสื่อสังคมออนไลน์ นักศึกษาที่เรียนในสาขาเหล่านี้ มักถูกมองว่าเรียนไปเพื่อที่สุดท้ายก็กลายเป็นคนว่างงาน หลายสาขาถูกพูดถึงซ้ำๆ ทุกปี จนทำให้เด็กหลายคนที่เพิ่งพ้นรั้วมัธยมมาหมายๆ เกิดความลังเลเมื่อต้องเลือกเส้นทางอนาคตของตน
แล้วสาขาไหนบ้างที่ในยุคนี้มักถูก “ติดใบแดง” ว่าเสี่ยงตกงาน เว็บไซต์ต่างประเทศ SOHA ได้เปิดเผยรายชื่อ 5 สาขาวิชาที่มักถูกหยิบมาพูดในประเด็นนี้ เพื่อวิเคราะห์ว่าเรื่องนี้น่ากังวลจริงๆ หรือแค่การคาดการณ์ของคนบางกลุ่มแบบไร้ข้อมูล?
1. บริหารธุรกิจ
บริหารธุรกิจเป็นสาขาที่มีนักศึกษาเลือกเรียนจำนวนมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่เพราะความนิยมนี้เอง ทำให้ผู้จ้างงานเริ่มเบื่อหน่ายผู้จบใหม่ที่ขาดทักษะในโลกจริง หากเรียนจบเพียงด้วยเกรดเฉลี่ยธรรมดา ไม่มีประสบการณ์ทำงานจริง ใช้เครื่องมือดิจิทัลไม่เป็น หรือวิเคราะห์ข้อมูลไม่เป็น ก็มีโอกาสสูงที่จะอยู่ในกลุ่ม “ตกงานแฝง” คือเรียนจบแต่หางานไม่ได้ หรือต้องไปทำงานนอกสาย
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณจริงจังกับการเรียน และมุ่งไปยังสายเฉพาะทาง เช่น การตลาดดิจิทัล, โลจิสติกส์, วิเคราะห์การเงิน, หรือ การจัดการโครงการ คุณยังมีโอกาสเติบโตได้ดี ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สาขา แต่เพราะมีคนเลือกเรียนมากเกินไป โดยไม่เจาะลึก
2. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ชื่อสาขาฟังดูหรูหรา พร้อมภาพฝันว่าจะได้ทำงานที่สถานทูต องค์กรนานาชาติ หรือเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ แต่ความจริงแล้ว สาขานี้ต้องการทักษะภาษาระดับสูง ความคิดวิเคราะห์ที่เฉียบคม และความรู้ลึกด้านการเมือง กฎหมาย รวมทั้งเศรษฐกิจโลก
เนื่องจากการแข่งขันสูง ตำแหน่งงานน้อย และคุณสมบัติจัดได้ว่าเข้าถึงยาก จึงทำให้สาขานี้ติดกลุ่มเสี่ยงตกงาน แต่หากคุณมีทักษะด้านการสื่อสาร การทำเนื้อหาระดับสากล หรือทักษะการทูตควบคู่กับภาษาดี เชื่อว่าก็ยังสามารถหาทางเดินเฉพาะของตัวเองได้เสมอ
3. เทคโนโลยีชีวภาพ
เคยถูกคาดหวังว่าจะเป็นสาขาแห่งศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะหลังโควิด-19 แต่ในหลายประเทศระบบนิเวศสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพยังไม่แข็งแรง ห้องแล็บ ศูนย์วิจัย หรือบริษัทด้านนี้ยังไม่มากพอที่จะรองรับคนจบใหม่
ทำให้หลายคนจบมาแล้วต้องเปลี่ยนอาชีพไปสอนหนังสือ หรือเรียนต่อในสายอื่น ทำให้ถูกมองว่าสาขานี้ไม่ได้ “ตาย” แต่ก็ยังไม่เหมาะกับคนส่วนใหญ่เช่นกัน โดยเฉพาะถ้าไม่หลงใหลการวิจัย หรือไม่อยากเรียนต่อหรือต่างประเทศ
4. การออกแบบกราฟิก
สายนี้ดูน่าสนใจเพราะเน้นความสร้างสรรค์ และมีโอกาสทำงานกับแบรนด์ โฆษณา แฟชั่น หรือเกม แต่ก็มีอัตราการแข่งขันและคัดคนออกสูงมาก เพราะมีผู้เรียนจำนวนมากทุกปี แต่ตำแหน่งงานดีๆ มีจำกัด
หลายคนเลือกเรียนเพราะคิดว่า “เท่” แต่กลับไม่มีพื้นฐานการออกแบบที่ดี ขาดทักษะเทคนิค หรือไม่ตามเทรนด์ใหม่ๆ ที่สำคัญยังต้องแข่งกับ AI และเครื่องมืออัตโนมัติ ถ้าไม่มีสไตล์หรือจุดเด่นของตัวเอง จะถูกแทนที่ได้ง่าย แม้จะไม่ใช่งานที่ตกงานง่าย แต่ตกขบวนได้ง่ายถ้าไม่พัฒนา
5. จิตวิทยา
เมื่อผู้คนให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากขึ้น สาขานี้ก็กลายเป็นที่นิยม แต่การจะทำงานด้านจิตวิทยาจริงๆ นั้นไม่ง่าย เพราะในไทยยังมีระบบการฝึกอบรมและข้อกฎหมายที่ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้เรียนจบแล้วยังหางานตรงสายยาก
นอกจากนี้ ยังต้องเรียนต่อระดับสูง มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ต้องมีความรู้ข้ามศาสตร์ และความเข้มแข็งทางจิตใจอย่างมาก คนที่จบปริญญาตรีส่วนใหญ่จึงไปทำงานด้าน HR การศึกษา หรือสื่อ ซึ่งเกี่ยวข้องแต่ไม่ตรงกับวิชาชีพจิตวิทยาโดยตรง
ท้ายที่สุด ไม่มีอาชีพไหนตกงาน ถ้ามีวิธีคิดและการปรับตัวที่ถูกต้อง เพราะความจริงแล้ว ไม่มีสาขาไหน “ตกงาน” อย่างแท้จริง มีแต่ตลาดที่เปลี่ยนแปลงและคนที่ไม่ตามทัน คนที่เรียนเพื่อเอาแค่ใบปริญญา ขาดทักษะ ไม่พัฒนาตัวเอง หรือยึดติดกับแนวคิดเก่า ๆ เท่านั้นที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
“ใบแดง” คือการเตือนว่า อย่าเลือกสาขาเพราะชื่อดูดี และอย่าเรียนไปเรื่อยๆ โดยไม่มีแผน ถ้าอยากมีงานทำในสายที่เรียน ต้องเตรียมตัวระยะยาว ยอมปรับตัว และหมั่นอัปเดตตัวเองอยู่เสมอ บางครั้ง สิ่งที่ตัดสินว่าเราจะตกงานหรือไม่ ไม่ใช่ใบปริญญา แต่อยู่ที่ทัศนคติและความสามารถของเราหลังเรียนจบต่างหาก
- วิจัยฮาร์วาร์ดเตือนแรง “ลักษณะของสามี” ที่จะทำชีวิตคู่พัง อัตราการหย่าร้างสูงถึง 30% !!!
- ขาเก้าอี้สั่น! กูรูระดับโลก คาดการณ์ 10 อาชีพเผชิญ “พายุเลิกจ้าง” ในปีนี้ AI เสียบตำแหน่ง
ใส่ความเห็น